อาชีพที่มีโอกาสเกิดปัญหานิ้วล็อค

อาชีพที่มีโอกาสเกิดปัญหานิ้วล็อค

นิ้วล็อคจะเกิดการอักเสบของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ ส่วนมากจะพบได้ในผู้ที่ใช้นิ้วทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดในท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน เวลาที่เกิดอาการนิ้วล็อคนิ้วจะหักงอลงมา ทำให้มีอาการปวด บางครั้งเราต้องทำการง้างกลับคืน สำหรับวิธีการรักษาในปัจจุบันแพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดเล็ก ซึ่งจะใช้เวลาไม่นาน และไม่เจ็บมาก รวมไปถึงการทำท่ากายบริหารนิ้วก็จะสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ แต่แบบหลังอาจต้องใช้ระยะเวลานานหน่อย ขึ้นอยู่กับว่าเกิดการอักเสบมากแค่ไหน และที่สำคัญคนที่เคยเป็นแล้วได้ทำการรักษาจนหายแล้ว แต่ยังกลับไปใช้พฤติกรรมเหมือนเดิม ก็อาจมีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้ คราวนี้เราลองไปดูกันต่อดีกว่าว่ามีอาชีพไหนบ้างที่เสี่ยงจะเกิดอาการนิ้วล็อคได้ 

1. นักกอล์ฟ 

จะเกิดจากการเกร็งในการจับไม้กอล์ฟที่แน่นจนเกินไป รวมไปถึงการเหวี่ยงแรงสวิงมากเกินไป และการซ้อมติดต่อกันเป็นเวลานาน สิ่งเหล่านี้ส่งผลทำให้เกิดอาการนิ้วล็อค และการเลือกไม้กอล์ฟที่มีน้ำหนักมากและจับเป็นเวลานาน ก็ส่งผลให้เกิดอาการอักเสบของเส้นเองได้เช่นเดียวกัน 

2. ช่าง 

ส่วนมากอาชีพนี้จะเน้นการใช้มือและนิ้วในการทำงาน โดยเฉพาะงานช่างฝีมือต่างๆ ที่ต้องอาศัยความประณีตและละเอียดอ่อนและความต่อเนื่องในการทำงาน  

3. นักยูโด 

ในระหว่างการฝึกซ้อมจะเน้นการใช้กำลังมือและแขนเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้สามารถยกคู่ต่อสู้และทำการทุ่มได้ และท่าในการฝึกซ้อมบางท่าก็จะเป็นการฝึกกำลังของข้อนิ้วที่ต้องทำการฝึกติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการอักเสบของเส้นเอ็นและมีปัญหานิ้วล็อคตามมาได้

4. แม่บ้าน 

หมายถึงผู้ที่ทำอาชีพแม่บ้าน รวมไปถึงผู้ที่อยู่บ้านและต้องทำงานบ้านอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น ทำกับข้าว ซักเสื้อผ้า ล้างจาน กวาดบ้าน ถูบ้าน หรือแม้แต่ผู้ที่หิ้วถุงกับข้าวหนักๆ เป็นประจำ ทราบกันไหมว่าคุณก็มีโอกาสเกิดอาการนิ้วล็อคได้เช่นกัน 

5. หมอนวดแผนโบราณ 

อาชีพนี้ต้องใช้แรงจากมือและนิ้วเป็นหลักกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่โป้งที่จะต้องทำการบีบและกดตามกล้ามเนื้อของลูกค้า  

6. พนักงานออฟฟิศ

ปัจจุบันการปฏิบัติงานส่วนใหญ่จะเป็นการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นหลัก และโดยมากพนักงานก็จะนั่งอยู่หน้าคอมกันเกือบตลอดเวลา ทราบไม่ว่าการที่เราใช้นิ้วมือกดที่แป้นพิมพ์กันเป็นประจำตลอดทุกวันเป็นเวลานาน ก็ส่งผลให้คุณเกิดอาการนิ้วล็อคได้เช่นกัน 

สำหรับการป้องกันไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ในแต่ละชั่วโมงเราควรพักและเปลี่ยนอิริยาบถกันบ้าง รวมไปถึงหัดบริหารนิ้วเมื่อมีเวลาว่าง เช่น การสะบัดข้อมือ หงิกมือ หรือดัดนิ้ว เป็นระยะๆ ก็จะช่วยป้องกันการเกิดอาการนิ้วล็อคได้เช่นกัน 

เครดิตภาพ : kapook.com, herb-industry.com

#ความรู้เรื่องโรค #ปัญหานิ้วล็อก #รักสุขภาพ