เช็คอาการเสี่ยงป่วยเป็นโรคหัวใจ มีอะไรบ้าง

เช็คอาการเสี่ยงป่วยเป็นโรคหัวใจ มีอะไรบ้าง วิธีลดน้ำหนัก อาหารลดน้ำหนัก ปวดหัว

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เฉลี่ยแล้วมากกว่า 30,000 คนต่อปี หรือประมาณประมาณ 4 คนต่อชั่วโมง และไม่มีท่าทีว่าอัตราการชีวิตด้วยโรคนี้จะลดลง เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป หันมาทานอาหารจานด่วนมากขึ้น ซึ่งอาหารเหล่านี้มีไขมันและคาร์โบไฮเดตสูง แต่ในขณะเดียวกันไม่ออกกำลังกาย และมีความเครียดมากขึ้น มาเช็คตัวเองกันดีกว่าว่ามีอาการเสี่ยงป่วยเป็นโรคหัวใจหรือไม่ จะได้แก้ไขได้ทัน

อาการเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

                  1. มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน สูบบุหรี่ และพันธุกรรม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจได้ง่าย

                  2. มีอาการแน่นหน้าอก ซึ่งจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่ามีคนนั่งทับ เหยียบ บริเวณหน้าอก ปวดร้าวขึ้นกรามด้านซ้าย อาจร้าวไปถึงท้องแขนซ้าย หรือลงมาบริเวณท้อง โดยมีอาการร่วมกับเหงื่อแตกใจสั่นด้วย

                  3. หน้ามืด เป็นลมหมดสติ หรืออาจจะวูบกะทันหันโดยไม่รู้สึกตัว

                  4. ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและรัว อย่างกะทันหัน

                  5. เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ ในตอนกลางคืนอาจจะตื่นเพราะมีอาการหอบในขณะที่นอนหลับไปแล้ว แม้แต่ในขณะที่เดินในระยะทางสั้น ๆ ก็รู้สึกเหนื่อยง่าย และจะมีอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ ควรระวังเพราะอาจจะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้

                  6. ขา หน้าแข้งหรือปลายเท้าทั้งสองข้างมีอาการบวม หากใช้นิ้วกดบริเวณนั้นจะพบว่าเนื้อบุ๋มลงไปและไม่คืนตัว

หากพบว่ามีอาการดังกล่าว เสี่ยงป่วยเป็นโรคหัวใจอย่างแน่นอน ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยรักษาทันที ก่อนที่อาการต่าง ๆ จะลุกลาม รุนแรง จนไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ในบางอาการที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดอยู่เสมอว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรคหัวใจนั้น แท้จริงแล้วอาจจะไม่ใช่ เช่น เหงื่อออกบริเวณปลายมือปลายเท้า ซึ่งหากไม่พบอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจจะเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป ในบางกรณีอาจมีอาการเจ็บบริเวณหน้าอก แต่เมื่อหายใจเข้าลึก ๆ พบว่ายังเจ็บอยู่ อาจจะเป็นอาการของกล้ามเนื้อทรวงอก กล้ามเนื้อซี่โครง เยื่อหุ้มปอดผิดปกติก็ได้ ซึ่งต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อตรวจวินิจฉัยรักษาได้อย่างแม่นยำและเที่ยงตรง

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ

              ปัจจัยเสี่ยงป่วยเป็นโรคหัวใจ เช่น อายุ หากเป็นวัย 40 ปีขึ้นไป ต้องระวังสุขภาพให้มากขึ้น เพราะพบว่าอัตราการเป็นโรคหัวใจนั้นพบมากในกลุ่มวัย 40-50 ปี โดยเฉพาะเพศชายต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง ที่สำคัญหากมีโรคไขมันในเลือดสูง ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่มีมากกว่าคนอื่น ๆ หลายเท่า เพราะว่าไขมันจะจับตัวตามผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดการอุดตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ถูกส่งไปหล่อเลี้ยงหัวใจ ในส่วนของผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ๆ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ รวมถึงโรคความดันโลหิตสูง ส่งผลให้หลอดเลือดหด เกร็ง ทำให้หัวใจขาดเลือดได้เหมือนกัน นอกจากนี้พันธุกรรม และพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็มีส่วนกระตุ้นทำให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็นต้น

              หากพบว่าตัวเองมีอาการเสี่ยงป่วยเป็นโรคหัวใจดังกล่าวเกิดขึ้น ควรรีบเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยรักษาได้อย่างทันท่วงที ไม่อยากนั้นอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ครบห้าหมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลดการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็นต้น ก็จะทำให้เราห่างไกลจากโรคหัวใจ สุขภาพแข็งแรง

เครดิตภาพ : ch9airport.com / allwellhealthcare.com / sawanya16.blogspot.com

YouTube :

7 สัญญาณเตือนโรคหัวใจ หัวใจวาย หัวใจขาดเลือด

#อาการเสี่ยงโรคหัวใจ #รู้ทันโรคหัวใจ #สุขภาพน่ารู้