เมื่อได้เห็นคำว่า จิตเวชทางโภชนาการ เป็นครั้งแรก หลายคนคงสงสัยว่าหมายถึงอะไรกันแน่ แต่นักกำหนดอาหารได้พูดถึงความเกี่ยวข้องระหว่างอาหารกับสุขภาพจิตมาพักใหญ่ๆ แล้ว รวมถึงอาหารแบบที่เรียกว่า อาหารที่ช่วยเพิ่มความสุข จิตเวชทางโภชนาการเป็นการทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างโภชนาการและสุขภาพจิต มีจิตแพทย์บางคนใช้โภชนาการเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการรักษาภาวะทางจิตต่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภาวะซึมเศร้า ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าผู้คนมากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลกต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคนี้ และเป็นสาเหตุของความพิการอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าการเจ็บป่วยนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า
อาหาร ภาวะซึมเศร้า และจิตเวชทางโภชนาการ
งานวิจัยหลายชิ้นที่เชื่อมโยงจิตเวชทางโภชนาการแสดงให้เห็นมานานแล้วว่า อาหารที่ก่อการอักเสบซึ่งรวมถึงเครื่องดื่มรสหวาน ธัญพืชขัดสี อาหารทอด เนื้อสัตว์แปรรูป ผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันสูง และขนมขบเคี้ยว สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะซึมเศร้า ผลการศึกษาในปี 2020 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการด้านสาธารณสุขได้สรุปความสัมพันธ์เชิงบวกและเชิงลบระหว่างอาหารกับภาวะซึมเศร้า ทั้งนี้ไขมันต้านการอักเสบ รวมถึงโอเมก้า-3 จากอาหารจำพวกปลาแซลมอน และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวจากอะโวคาโดและน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ สามารถทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าลดลง รวมทั้งพบค่าการอักเสบในเลือดก็ลดลง ส่วนสารต้านอนุมูลอิสระบางชนิดรวมถึงฟลาโวนอยด์ ที่พบในผลเบอร์รี่ นัท ส้ม และแอปเปิ้ล ก็มีผลทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าลดลง ดังนั้นจิตเวชทางโภชนาการจึงแนะนำให้รับประทานอาหารบางชนิดเพื่อช่วยรักษาภาวะซึมเศร้า ได้แก่ ปลา ซึ่งการศึกษาข้างต้นระบุว่า ผู้หญิงที่กินปลาสัปดาห์ละสองครั้งขึ้นไปมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าลดลง 25% เมื่อเทียบกับผู้ที่กินปลาน้อยกว่าสัปดาห์ละสองครั้ง สารอาหารบางชนิดเช่น แมกนีเซียม โฟเลต สังกะสี วิตามิน ดี บี12 และบี6 หากขาดไปก็เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นได้
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบอาหารด้วยจิตเวชทางโภชนาการ
ข้อแนะนำการบริโภคอาหารเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะซึมเศร้าซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของจิตเวชทางโภชนาการ ได้แก่ การรับประทานอาหารเมดิเตอร์เรเนียน อาหารรูปแบบนี้อุดมไปด้วยผักผลไม้ ปลา นัท ถั่ว และน้ำมันมะกอก โดยต้องจำกัดการรับประทานอาหารแปรรูปอย่างเคร่งครัด ซึ่งส่งผลให้สุขภาพจิตดีขึ้น 19% –23% การดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนเพิ่มขึ้น จะทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าลดลง นักวิจัยระบุว่าคาเฟอีนส่งผลกระทบต่อจิตประสาท รวมถึงสมองทำงานดีขึ้น การรับประทานโปรไบโอติก ไม่ว่าจะรับประทานเดี่ยวๆ หรือรวมกับพรีไบโอติก จะช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ ความสัมพันธ์นี้เกิดจากสิ่งที่เรียกว่า แกนกลางของสมอง เกิดการสื่อสารระหว่างสมองและระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะไมโครไบโอมซึ่งเป็นกลุ่มของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้มีส่วนช่วยลดการอักเสบ ปรับปรุงการทำงานของภูมิคุ้มกันและทำให้อารมณ์ดีขึ้น
การเชื่อมต่อของอาหารกับอารมณ์เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจิตเวชทางโภชนาการอย่างไม่ต้องสงสัย แม้ว่าคุณจะไม่ได้รับการรักษาภาวะสุขภาพจิต แต่การปรับภาวะโภชนาการสามารถช่วยให้คุณรับมือกับความเครียดซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ และการปรับปรุงอาหารของคุณเพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้นจะให้ผลลัพธ์เชิงบวกอื่นๆ เช่นการลดน้ำหนักตัว การปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงการนอนไม่หลับ
เครดิตภาพจาก pixabay.com
#จิตเวชทางโภชนาการ #อาหารกับอารมณ์ #กินสู้โรค