การประคบร้อนหรือเย็น เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอีกวิธีหนึ่งสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อต่าง ๆ ของร่างกาย แต่หลายคนก็ไม่เคยรู้ว่าการประคบแบบไหนใช้ในสถานการณ์ใด หรือไม่มีมีความแตกต่างกัน ทำให้นำไปใช้อย่างผิดวิธี ส่งผลให้อาการเจ็บปวดเหล่านั้นไม่หาย บางครั้งอาจจะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม มาดูกันว่าปวดแบบไหนควรประคบอย่างไร
ข้อแตกต่างระหว่างประคบเย็น-ร้อน
การประคบเย็น เป็นการใช้ความเย็นในการบรรเทาอาการปวดบวมที่อาจจะเกิดจากการบาดเจ็บอย่างเฉียบพลัน เพราะความเย็นนี้จะช่วยให้เส้นเลือดมีการหดตัว ทำให้เลือดไหลออกมาน้อยลง หากปวดหรือได้รับบาดเจ็บ ควรจะประคบด้วยความเย็นทันที ภายใน 24-48 ชั่วโมง ใครประคบประมาณ 2-3 ครั้งต่อวัน ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที อาการที่ใช้ความเย็นประคบ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดฟัน ปวดบวมบริเวณข้อเท้า ข้อเคล็ด เลือดกำเดาไหลออกมา หรือการปวดบวมในบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือเริ่มมีอาการใหม่ ๆ เป็นต้น โดยอุปกรณ์สำหรับการประคบเย็น อาจเป็นแผ่นเจลสำเร็จรูปที่แช่ไว้ในตู้เย็น หรือในถังน้ำแข็ง แม้แต่ถุงน้ำแข็งที่ทำขึ้นเองก็ได้ การประคบให้ใช้ถุงพลาสติกขนาดพอดี เติมน้ำเปล่าผสมกับน้ำแข็ง แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้มีความเย็นมากจนเกินไป แล้วนำมาวางไว้บริเวณที่ผิวหนังที่เจ็บปวด หากเกิดขึ้นที่มือ แขน ขา เท้า อาจใช้การแช่ลงไปในภาชนะบรรจุน้ำเย็น ในแต่ละครั้งให้แช่ประมาณ 15-20 นาที ส่วน การประคบร้อน เป็นการใช้ความร้อนในการเข้าไปกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น ลดอาการบาดเจ็บ ปวดเกร็ง และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อต่าง ๆ ให้เกิดความผ่อนคลาย ในการใช้ความร้อนประคบจะเริ่มหลังจากที่อาการปวดได้ผ่านไปแล้วกว่า 48 ชั่วโมงขึ้นไป ประมาณ 2-3 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 15-20 นาที เพื่อช่วยลดอาการปวด ผ่อนคลายกลามเนื้อลง อาการควรประคบ เช่น การปวดตึงบริเวณกล้ามเนื้อ คอ หลัง บ่า น่อง ประจำเดือน เป็นต้น อาจใช้แผ่นเจลความร้อนสำเร็จรูป กระเป๋าน้ำร้อน หรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อนก็ได้ แต่อุณหภูมิที่เหมาะสมไม่เกิน 45 องศาเซลเซียส และไม่ควรร้อนมากไป นาน หรือถี่เกินไป ที่สำคัญไม่ประคบบริเวณบาดแผลเปิด หรือมีเลือดออก เพราะจะทำให้มีอาการอักเสบมากขึ้น
ข้อควรระวัง
ในการประคบร้อน ไม่ควรประคบในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะบริเวณ แขน ขา เพราะอาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อจนเกิดเป็นแผลติดเชื้อเรื้อรังขึ้นได้ และในผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นประสาทอักเสบจากโรคเบาหวาน หรือภาวะโรคอื่น ๆ รวมถึงโรคเรนอด์ ควรให้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากในบริเวณที่ผู้ป่วยไม่มีความรู้สึก ส่วนในผู้ที่เป็นโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง กลุ่มอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อน ส่วนข้อระวังในการประคบเย็นนั้น ไม่ควรใช้กับผู้ที่มีอาการแพ้หรือมีความไวต่อความเย็น เพราะอาจเกิดผื่น ลมพิษ บวม ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้ ที่สำคัญควรระมัดระวังเป็นพิเศษหากต้องประคบบริเวณดวงตา เนื่องจากอาจจะได้รับอันตรายจากสารเคมีได้หากมีการรั่วของสารเคมีภายในเจลสำเร็จรูป นอกจากนี้ไม่ควรประคบเย็นในกรณีที่มีการบาดเจ็บอย่างรุนแรง เพราะร่างกายอาจเปลี่ยนแปลงเกินกว่าที่ความเย็นจะเข้าไปช่วยบรรเทาได้ อีกทั้งไม่ควรนอนหลับในขณะที่ประคบอยู่
คงพอจะรู้แล้วว่า อาการปวดแบบไหนเราควรจะประคบร้อน และแบบไหนประคบเย็น รวมถึงระยะเวลา และจำนวนครั้งในการประคบที่มีความเหมาะสม โดยพิจารณาเบื้องต้นว่าหากมีการบาดเจ็บแบบเฉียบพลันร่วมกับอาการบวมให้เลือกใช้ความเย็น แต่หากเป็นอาการปวด ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หรือมีอาการร่วมกับการตึงกล้ามเนื้อควรใช้ความร้อน เพื่อให้ร่างกายหายจากอาการปวดเหล่านั้น กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
เครดิตภาพ : health4senior.com / chiangmainews.co.th / thaihealth.or.th
YouTube :
ประคบร้อน-เย็น ทำอย่างไร
ประคบร้อน หรือเย็น เลือกใช้อย่างไร
#ประคบร้อนหรือเย็น #การปฐมพยาบาลเบื้องต้น #การประคบแก้ปวดเมื่อย