การรับประทานอะโวคาโดเป็นส่วนหนึ่งของอาหารประจำวัน สามารถช่วยปรับปรุงสุขภาพของลำไส้เพราะอะโวคาโดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่มีใยอาหารและไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าอะโวคาโดกับจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้ การรับประทานอะโวคาโดช่วยให้รู้สึกอิ่มและลดความเข้มข้นของคอเลสเตอรอลในเลือดได้ แต่สิ่งที่ต้องศึกษาต่อมาก็คือ อะโวคาโดมีผลอย่างไรต่อจุลินทรีย์ในลำไส้และสารเมตาบอไลต์ที่จุลินทรีย์สร้างขึ้น
เมื่อทดลองรับประทานอะโวคาโดวันละมื้อ
การศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอิลินอยส์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจผลของการบริโภคอะโวคาโดต่อจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร โดยต้องการทดสอบสมมติฐานที่ว่าไขมันและเส้นใยในอะโวคาโดส่งผลในเชิงบวกต่อจุลินทรีย์ในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ยังต้องการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์ในลำไส้กับผลลัพธ์ด้านสุขภาพด้วย การศึกษานี้ใช้ผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้ใหญ่ 163 คน มีอายุระหว่าง 25 ถึง 45 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน (มีค่าดัชนีมวลกายอย่างน้อย 25 กก./ ตร.ม.) พวกเขาได้รับอะโวคาโดหนึ่งมื้อต่อวัน เพื่อบริโภคทดแทนอาหารเช้า กลางวัน หรือเย็น กลุ่มหนึ่งบริโภคอะโวคาโดในแต่ละมื้อ ในขณะที่กลุ่มควบคุมรับประทานอาหารที่คล้ายกัน แต่ไม่มีอะโวคาโด ผู้เข้าร่วมจะถูกตรวจเลือด ปัสสาวะ และอุจจาระตลอดการศึกษา 12 สัปดาห์
อะโวคาโดมีบทบาทกับจุลินทรีย์ในลำไส้
นักวิจัยพบว่าคนที่รับประทานอะโวคาโดทุกวันโดยเป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหารจะมีจุลินทรีย์ในลำไส้จำนวนมากขึ้น ซึ่งจะสร้างสารที่สนับสนุนสุขภาพของลำไส้ และคนกลุ่มนี้ยังมีความหลากหลายของจุลินทรีย์มากขึ้นเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับประทานอะโวคาโด สารที่จุลินทรีย์ผลิตขึ้นมีผลต่อสุขภาพ และการบริโภคอะโวคาโด ช่วยลดกรดน้ำดี และเพิ่มกรดไขมันสายสั้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อะโวคาโดอุดมไปด้วยไขมัน อย่างไรก็ตามนักวิจัยพบว่าในขณะที่กลุ่มอะโวคาโดบริโภคแคลอรี่มากกว่ากลุ่มควบคุมเล็กน้อย แต่ไขมันจะถูกขับออกทางอุจจาระมากกว่าเล็กน้อยด้วย การขับไขมันออกมากขึ้นหมายความว่า ผู้เข้าร่วมการวิจัยดูดซึมพลังงานจากอาหารที่รับประทานน้อยลง ทั้งนี้เป็นเพราะการลดกรดน้ำดีซึ่งเป็นโมเลกุลที่ระบบย่อยอาหารหลั่งออกมาให้ร่างกายดูดซึมไขมันได้ ซึ่งผลพบว่า ในกลุ่มที่รับประทานอะโวคาโดมีปริมาณของกรดน้ำดีในอุจจาระลดลงและปริมาณไขมันในอุจจาระสูงกว่า ทั้งนี้ไขมันในอะโวคาโดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นไขมันที่ดีต่อหัวใจ ส่วนใยอาหารที่ละลายน้ำก็มีความสำคัญเช่นกัน อะโวคาโดขนาดกลางให้ใยอาหารประมาณ 12 กรัม คนอเมริกันน้อยกว่า 5% ที่ได้รับใยอาหารเพียงพอ คนส่วนใหญ่บริโภคใยอาหารประมาณ 12 ถึง 16 กรัมต่อวัน ดังนั้นการผสมผสานอะโวคาโดในอาหารช่วยทำให้ได้รับใยอาหารใกล้เคียงกับปริมาณที่แนะนำใน 1 วัน
การรับประทานอะโวคาโดเป็นส่วนหนึ่งของอาหารประจำวันสามารถช่วยปรับปรุงสุขภาพของลำไส้ได้ อะโวคาโดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่มีเส้นใยอาหารและไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าอะโวคาโดมีผลต่อจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารหรือ ‘ลำไส้’ อย่างไร แต่การรับประทานอะโวคาโดทุกวันส่งผลดีต่อสุขภาพแน่นอน
เครดิตภาพ : pixabay.com
#อะโวคาโด #ทริคสุขภาพดี #อาหารสุขภาพดี